ดอกไม้ประจําชาติอาเซียน 10
ประเทศ
1. บรูไนดารุสซาลาม (Negara
Brunei Darussalam) : ดอกซิมปอร์
ดอกไม้ประจำชาติบรูไน ก็คือ
ดอกซิมปอร์ (Simpor) หรือที่รู้จักกันในชื่อ
ดอกส้านชะวา (Dillenia) ดอกไม้ประจำท้องถิ่นบรูไน
ที่มีกลีบขนาดใหญ่สีเหลือง หากบานเต็มที่แล้วกลีบดอกจะมีลักษณะคล้ายร่ม
พบเห็นได้ตามแม่น้ำทั่วไปของบรูไน มีสรรพคุณช่วยรักษาบาดแผล หากใครแวะไปเยือนบรูไน
จะพบเห็นได้จากธนบัตรใบละ 1 ดอลลาร์ ของประเทศบรูไน และในงานศิลปะพื้นเมืองอีกด้วย
2. ราชอาณาจักรกัมพูชา (Kingdom
of Cambodia) : ดอกลำดวน
กัมพูชามีดอกไม้ประจำชาติเป็น
ดอกลำดวน (Rumdul) ดอกไม้สีขาวปนเหลืองนวล
กลีบดอกหนาทึบและแข็งเล็กน้อย มีกลิ่นหอมเย็นแบบกรุ่น ๆ
ถูกจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งเพราะมีความหมายถึงความสดชื่นหอมกรุ่น
และเป็นดอกไม้สำหรับสุภาพสตรี วิธีปลูกที่ถูกต้อง
ต้องปลูกไว้ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวบ้าน ที่สำคัญต้องปลูกในวันพุธด้วยนะ
3. สาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Republic
of Indonesia) : ดอกกล้วยไม้ราตรี
ดอกไม้ประจำชาติอินโดนีเซีย คือ
ดอกกล้วยไม้ราตรี (Moon Orchid) ซึ่งเป็นหนึ่งในดอกกล้วยไม้ที่บานอยู่ได้นานที่สุด โดยช่อดอกนั้นสามารถแตกกิ่งและอยู่ได้นาน
2-6 เดือน โดยดอกจะบานแค่ปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น
ทั้งนี้ดอกกล้วยไม้ราตรีสามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศชื้น
จึงพบเห็นได้ง่ายในพื้นที่ราบต่ำของประเทศอินโดนีเซีย
4.
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (Lao People's Democratic Republic)
: ดอกจำปาลาว
ดอกไม้ประจำชาติประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างประเทศลาว
คือ ดอกจำปาลาว (Dok Champa) คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ดอกลีลาวดี หรือ ดอกลั่นทม
โดยดอกจำปาลาวมักมีสีสันหลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นเพียงสีขาวเท่านั้น
เช่น สีชมพู สีเหลือง สีแดง หรือสีโทนอ่อนต่าง ๆ
โดยดอกจำปาลาวนั้นเป็นตัวแทนของความสุขและความจริงใจ
จึงนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อประดับประดาในงานพิธีต่าง ๆ
รวมทั้งใช้เป็นพวงมาลัยเพื่อรับแขกอีกด้วย
5. ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)
: ดอกพู่ระหง
สำหรับประเทศมาเลเซียนั้น
มีดอกไม้ประจำชาติเป็น ดอกพู่ระหง (Bunga Raya) ในภาษาท้องถิ่นเรียกกันว่า บุหงารายอ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ
ดอกชบาสีแดง ลักษณะกลีบดอกเป็นสีแดง มีเกสรยื่นยาวออกมาเหนือดอก
ซึ่งถูกจัดให้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศมาเลเซีย
เพื่อเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นและความอดทนในชาติ โดยเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมให้สูงส่งและสง่างาม
รวมทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และความงามได้อีกด้วย
6. สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic
of the Philippines) : ดอกพุดแก้ว
ดอกไม้ประจำชาติฟิลิปปินส์ คือ
ดอกพุดแก้ว (Sampaguita Jasmine) ดอกมีสีขาวกลีบดอกเป็นรูปดาว
มีกลิ่นหอม บานส่งกลิ่นในตอนกลางคืน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เรียบง่าย
อ่อนน้อมถ่อมตน รวมถึงความเข้มแข็งอีกด้วย
เคยถูกนำมาใช้เฉลิมฉลองในตำนานเรื่องเล่ารวมทั้งบทเพลงของฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน
7. สาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic
of Singapore) : ดอกกล้วยไม้แวนด้า
ประเทศสิงคโปร์ มี
ดอกกล้วยไม้แวนด้า (Vanda Miss Joaquim) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกกล้วยไม้แวนด้าตั้งชื่อตามผู้ผสมพันธุ์ คือ
Miss Agnes Joaquim จัดเป็นดอกกล้วยไม้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศสิงคโปร์
มีสีม่วงสดสวยงามและเบ่งบานอยู่ตลอดทั้งปี โดยถูกจัดให้เป็นดอกไม้ประจำชาติสิงคโปร์ตั้งแต่ปี
ค.ศ. 1981 (พ.ศ. 2524)
8. ราชอาณาจักรไทย (Kingdom
of Thailand) : ดอกราชพฤกษ์
ดอกไม้ประจำชาติไทยของเรา ก็คือ
ดอกราชพฤกษ์ (Ratchaphruek) ที่มีสีเหลืองสวยสง่างาม
เมื่อเบ่งบานแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมีเกียรติยศศักดิ์ศรี
ซึ่งชาวไทยหลายคนรู้จักกันดีในนามของ ดอกคูน
โดยมีความเชื่อว่าสีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์คือสีแห่งพระพุทธศาสนาและความรุ่งโรจน์
รวมทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีปรองดองของคนในชาติอีกด้วย
โดยดอกราชพฤกษ์จะเบ่งบานในช่วงเดือนกุมภาพันธ์–พฤษภาคม มีจุดเด่นเวลาเบ่งบานคือการผลัดใบออกจนหมดต้น
เหลือไว้เพียงแค่สีเหลืองอร่ามของดอกราชพฤกษ์เท่านั้น
9. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (The
Socialist Republic of Vietnam) : ดอกบัว
ประเทศเวียดนาม
มีดอกไม้ที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง ดอกบัว (Lotus) เป็นดอกไม้ประจำชาติ โดยดอกบัวเป็นที่รู้จักกันในนาม “ดอกไม้แห่งรุ่งอรุณ” เป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ความผูกพัน และการมองโลกในแง่ดี
ดอกบัวจึงมักถูกกล่าวถึงในบทกลอนและเพลงพื้นเมืองของชาวเวียดนามอยู่บ่อยครั้ง
10. สหภาพพม่า (Union
of Myanmar) : ดอกประดู่
ดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า คือ
ดอกประดู่ (Paduak) เป็นดอกไม้ที่พบมากในประเทศพม่า
มีสีเหลืองทอง ผลิดอกและส่งกลิ่นหอมในฤดูฝนแรก
ช่วงเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศพม่ามีการเฉลิมฉลองปีใหม่ขึ้น
ชาวพม่าเชื่อว่าดอกประดู่คือสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน และเป็นดอกไม้ที่ขาดไม่ได้ในพิธีทางศาสนาของชาวพม่าเลยล่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น